จังหวัดกำแพงเพชรจัดพิธีเนื่องใน “วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมวงศ์”ประจำปี ๒๕๖๖

วันที่ 6 เมษายน 2566 เวลา 09.00 น. ที่หอประชุมชั้น 2 ศูนย์ราชการจังหวัดกำแพงเพชร นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานงานรัฐพิธีเนื่องใน “วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมวงศ์” ประจำปี 2566 โดยมีนางกาญจนี รุจนเสรี ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดกำแพงเพชร/นายกเหล่ากาชาดจังหวัดกำแพงเพชร, นางสาวสุพัตรา คล้ายทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร, นายชัยพฤกติ์ เชียรธานรักษ์ ปลัดจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมในพิธีฯ มีพระธรรมภาณพิลาส เจ้าคณะภาค 4 เจ้าอาวาสวัดคูยาง เป็นประธานในพิธีสงฆ์ โดยประธานในพิธีฯ มาถึงได้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นวางพานพุ่มดอกไม้ ถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และจุดธูปเทียน เครื่องทองน้อย พร้อมกับนำกล่าวคำถวายราชสดุดี และบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา เจ้าหน้าที่ย่ำคล้อง กลอง ระฆัง 3 ครั้ง จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรนำหัวหน้าส่วนราชการถวายจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา และกรวดน้ำรับพร เป็นอันเสร็จพิธี








วันจักรี เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี สืบทอดต่อจาก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และทรงสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของไทย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ (ร.1-4) เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมีการย้ายที่หลายครั้ง เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยปราสาทเป็นต้น ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง 4 (ร.1-4) มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระชนกนาถ จนกระทั่ง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล จึงสำเร็จลุล่วง และได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนปีนั้น และต่อมา โปรดฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายนว่า “วันจักรี” โดยราชวงศ์จักรี ชื่อของราชวงศ์จักรีมีที่มาจาก บรรดาศักดิ์ “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์” ตำแหน่งสมุหนายก ซึ่งเป็นตำแหน่งทางราชการที่พระองค์เคยทรงดำรงตำแหน่งมาก่อนในสมัยกรุง ธนบุรี คำว่า “จักรี” นี้พ้องเสียงกับคำว่า “จักร” และ “ตรี” ซึ่งเป็นเทพอาวุธของพระนารายณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแสงจักรและพระแสงตรีไว้ 1 สำรับ และกำหนดให้ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรีสืบมาจนถึงปัจจุบัน


















